กาฬโรค (Plague) เป็นโรคระบาดร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เยอร์ซีเนีย เพสติส (Yersinia pestis) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากสัตว์ เพราะเชื้อกาฬโรคเป็นเชื้อที่พบได้ในสัตว์ แต่จะไม่แสดงอาการในสัตว์ และจะสามารถแพร่มาสู่คนได้ เมื่อเกิดการระบาดแต่ละครั้งย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียมากมาย

กาฬโรค เป็นเหตุให้หนึ่งในสามของประชากรในยุโรปเสียชีวิตในช่วงยุคมืด เชื้อกาฬโรคเป็นเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่มีการนำ
ไปใช้เป็นอาวุธชีวภาพในการก่อการร้าย

กาฬโรค

อาการของกาฬโรค

1. กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (bubonic) พบได้มากที่สุดสาเหตุมักเกิดจากการถูกหมัดกัด ผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่น ไข้ขึ้น บวมและปวดบริเวณต่อมน้ำเหลืองจนเกิดอาการอักเสบจนไม่สามารถขยับแขน และขาได้ มักพบบริเวณขาหนีบ หรือรักแร้

2. กาฬโรคโลหิตเป็นพิษ (septicemic) สามารถเกิดขึ้นหลังเป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง และอาการจะรุนแรงขึ้น ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว หมดสติ ความดันโลหิตต่ำ เลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ และสามารถเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือ 3 ถึง 5 วัน

3. กาฬโรคปอด (pneumonic) มีโอกาสพบเจอได้น้อยที่สุดในขณะที่มีความอันตรายมากที่สุดเช่นกัน เกิดได้หลังการติดเชื้อที่กระแสเลือดไปแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อได้จากผู้ที่มีเชื้ออยู่แล้วผ่านการไอ จาม ผู้ป่วยในกาฬโรคชนิดนี้จะมีอาการไข้ ปวดบวม ไอมีเสมหะเป็นน้ำต่อไปจะเป็นเลือด หากไม่รับการรักษาสามารถเสียชีวิตได้ภายในเวลา 3 วัน

สาเหตุของกาฬโรค

สาเหตุของกาฬโรคมาจากแบคทีเรียที่ชื่อ เยอร์ซีเนีย เพสติส (Yersinia Pestis) ซึ่งมักอยู่ในสัตว์จำพวกฟันแทะ เช่น หนู กระรอก ชิพมังค์ และกระต่าย โดยเชื้อสามารถแพร่มาสู่คนได้จากการถูกหมัดที่อาศัยอยู่กับสัตว์ที่มีเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวกัด และยังสามารถติตต่อได้โดยตรงจากการสัมผัสกับคนและสัตว์ หรือผู้ป่วยรับประทานสัตว์ที่มีเชื้อกาฬโรคเข้าไป นอกจากนั้น เชื้อกาฬโรคยังสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ในกาฬโรคปอด แต่จะพบได้น้อยมากในผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองหรือกาฬโรคแบบโลหิตเป็นพิษ

ปัจจัยเสี่ยง

1. อาชีพ สัตวแพทย์และทีมแพทย์ที่เกี่ยวข้องมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อ เพราะต้องพบกับแมวหรือสุนัขที่อาจมีเชื้อกาฬโรคเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งในเขตพื้นที่ที่มีสัตว์ที่มีเชื้อกาฬโรคอยู่มากก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้เช่นกัน

2. กิจกรรมที่ชอบทำหรืองานอดิเรก เช่น ตั้งแคมป์ ล่าสัตว์ หรือปีนเขา ในเขตพื้นที่ที่มีสัตว์ติดเชื้อกาฬโรคอยู่มาก ทำให้ผู้ที่ชอบทำกิจกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงจะถูกสัตว์หรือหมัดของสัตว์เหล่านั้นกัดและติดเชื้อได้

3. ตำแหน่งที่ตั้ง เนื่องจากการระบาดของโรคจะมีมากในเขตชนบทและกึ่งชนบท ซึ่งมีความแออัดของประชากร มีสุขอนามัยไม่ดี และมีหนูหรือขยะมาก ทำให้มีโอกาสในการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโรค เช่น หนู กระรอก กระแต หรือแมว

ความรุนแรงของกาฬโรค

กาฬโรคเป็นโรคที่เคยระบาดมาแล้วหลายครั้งในอดีต ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2263 กาฬโรคกลายเป็นการระบาดครั้งใหญ่ในยุโรป ซึ่งมีคนเสียชีวิตมากถึง 100,000 คนในเมืองมาร์เซย์ ประเทศฝรั่งเศส และการระบาดของโรคนี้ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในปี พ.ศ. 2398 ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลกทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 12 ล้านคน

การรักษากาฬโรค

เนื่องจากกาฬโรคเป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยจึงควรได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถหายเป็นปกติและฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์ โดยแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาเจนตามัยซิน ยาดอกซีไซคลิน ยาลีโวฟลอกซาซิน และยาไซโปรฟลอกซาซิน

ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และบางรายอาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และอาจต้องให้ออกซิเจนหรือเครื่องช่วยหายใจ นอกจากนั้น ผู้ป่วยกาฬโรคปอดต้องแยกรักษาออกจากผู้ป่วยอื่น ๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนั้น ผู้ที่ใกล้ชิดหรือได้สัมผัสกับผู้ป่วยกาฬโรคปอด ก็ควรได้รับการติดตามดูแล และแพทย์มักจะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ที่มา

petcharavejhospital.com

hfocus.org

ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ palumbogallery.com